background
เสาร์, 23 พฤษภาคม 2020

การเกิด PTSD ในคนทำงาน จาก COVID-19

จากเหตุการณ์ COVID-19 มีการ Lock down และมีข่าวคนเจ็บ คนตายทั่วโลกเป็นจำนวนล้าน เกิดภาวะว่างงาน ขาดเงิน ขาดรายได้ แบบฉับพลัน ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่คนรุ่นปัจจุบัน ไม่เคยประสบมาก่อน ถือเป็นเหตุการณ์ร้ายแรงตั้งแต่ปานกลางถึงมากตามประสบการณ์ของแต่ละคน ซึ่งทำให้เกิดอาการทางจิตสังคมหลายแบบ เช่น วิตกกังวล ซึมเศร้า แต่มีโรคหนึ่ง ซึ่งเกิดจากเหตุการณ์สะเทือนขวัญอย่างรุนแรง ซึ่งมีชื่อภาษาอังกฤษว่า PTSD (Post-traumatic stress disorder)

ptsd symtomp

โรคเครียดหลังประสบเหตุการณ์ร้ายแรง (Post-traumatic stress disorder; PTSD)

หมายถึง ความผิดปกติทางจิตใจภายหลังประสบเหตุการณ์ร้ายแรง ไม่ว่าจะเป็นผู้ประสบเหตุโดยตรง หรือเป็นพยานผู้รู้เห็นเหตุการณ์ที่เกิดกับคนอื่น หรือเรียนรู้เหตุการณ์ความรุนแรงหรืออุบัติเหตุที่เกิดกับบุคคลใกล้ชิด หรือรับรู้รายละเอียดของเหตุการณ์ที่รุนแรงนั้นซ้ำๆ จนทำให้เกิดความกลัว (Fear) ความหวาดหวั่นอย่างรุนแรง (Horror) และรู้สึกหมดหนทางช่วยเหลือ (Helplessness) และรบกวนการดำเนินชีวิต การเรียนหรือการทำงาน

อาจพบได้หลังประสบเหตุการณ์รุนแรงต่างๆ เช่น ภัยธรรมชาติ อุบัติเหตุ การถูกทำร้าย ทางร่างกายหรือทางเพศ การถูกข่มขืน ถูกทรมาน ในกรณี COVID-19 ซึ่งทำให้ชีวิตประจำวันเปลี่ยนไป ทั้งการทำงาน อาชีพ รายได้ แบบทันทีทันใด ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่รุนแรง โดยอาจเป็นคนที่อยู่ในเหตุการณ์ หรือเป็นพยานรู้เห็นเหตุการณ์ที่เกิดกับผู้อื่น หรือได้รับรู้เหตุการณ์ที่เกิดกับคนใกล้ตัวก็ได้

โรคนี้มีอาการมากจนรบกวนการดำเนินชีวิต และการทำงาน ทำให้ประสิทธิภาพการปรับตัวลดลงและเกิดความสูญเสียบุคคลที่มีศักยภาพ ความสูญเสียด้านจิตใจโดยทั่วไปยากจะฟื้นตัวได้ด้วยตัวเอง ต้องอาศัยความช่วยเหลือจากภายนอก และการฟื้นตัวอาจใช้เวลานาน

หากไม่ได้รับการดูแลอย่างทันท่วงทีผู้ที่รอดจากการประสบเหตุการณ์ร้ายแรงมีโอกาสเกิดโรคทางจิตเวชอื่น ได้แก่ โรคซึมเศร้า (Major depressive disorder), โรค Panic disorder, โรค Generalized anxiety disorder และโรคการใช้สารเสพติด (Substance use disorder) หรือสุรา เป็นต้น ถ้าให้การช่วยเหลือไม่ถูกต้องอาจกระตุ้นให้เกิดอาการ เป็นการซ้ำเติมทางจิตใจ (Re-traumatization) แพทย์จึงควรมีความรู้ เพื่อให้ความช่วยเหลือเบื้องต้นแก่ผู้ประสบเหตุการณ์ร้ายแรงและส่งต่อผู้ป่วย

อาการและอาการแสดง

หลังประสบเหตุการณ์ร้ายแรง ถ้ามีอาการ 3 วันขึ้นไปแต่หายไปภายใน 1 เดือนแรกจัดเป็นโรคเครียดเฉียบพลัน (Acute stress disorder; ASD) แต่ถ้านานกว่า 1 เดือนแล้วยังมีอาการอยู่ หรืออาการเกิดหลังจากนั้นจัดเป็นโรคเครียดหลังประสบเหตุการณ์ร้ายแรง (Post-traumatic stress disorder; PTSD) โดยอาการที่สำคัญมีดังนี้

  1. รู้สึกเหมือนเผชิญเหตุการณ์นั้นอีก (Re-experience) คิดถึงเหตุการณ์นั้นซ้ำๆ ตกใจขึ้นมาเองเหมือนตนเองอยู่ในเหตุการณ์นั้นอีกเมื่อมีสิ่งเร้าเพียงเล็กน้อย เช่น เสียงดัง ฝันร้ายว่าอยู่ในเหตุการณ์นั้นอีก รู้สึกเหมือนอยู่ในเหตุการณ์นั้นขึ้นมาเอง และตกใจกลัวรุนแรงโดยอาจไม่มีเหตุกระตุ้น (Flashback) แล้วเกิดอาการทางร่างกายที่แสดงความวิตกกังวล เช่น ใจสั่น มือสั่น เหงื่อออกมาก สับสน อาการอาจเกิดเป็นพักๆ ทำให้รู้สึกว่าสูญเสียการควบคุมตน ทุกข์ทรมานใจมาก กลัวว่าเหตุการณ์นั้นจะเกิดขึ้นอีก จึงพยายามหลีกเลี่ยงสถานการณ์หรือสถานที่ที่ทำให้เกิดอาการ
  2. พยายามหลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้นที่สัมพันธ์กับเหตุการณ์นั้น (Avoidance) กลัวสถานที่หรือสถานการณ์ที่ประสบ หวาดกลัวสิ่งเร้าที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์และหลีกเลี่ยงไม่กล้าเผชิญกับสิ่งเร้านั้นๆ อาการกลัวนี้ทำให้ผู้ประสบภัยหลีกเลี่ยงการคิดถึง หรือพูดถึงเหตุการณ์นั้น
  3. มีการเปลี่ยนแปลงของอารมณ์ ความคิดและการรับรู้ เช่น อาการเมินเฉย แปลกแยก ไร้อารมณ์ (Dissociation)รู้สึกสิ่งแวดล้อมแปลกไป (Derealization) หรือตนเองแปลกไปจากเดิม (Depersonalization) จำเหตุการณ์สำคัญนั้นไม่ได้ (Dissociative amnesia) ไม่รับรู้สิ่งรอบตัว
  4. มีอาการตื่นตัวมากเกินปกติ (Hyperarousal) กลัวเหตุการณ์นั้น วิตกกังวลง่าย กังวล แม้แต่เรื่องเล็กน้อย ตกใจง่ายจากเสียงดัง ขาดสมาธิ ย้ำคิดย้ำทำ คิดวนเวียนเรื่องที่วิตกกังวลซ้ำๆ อาจมีอารมณ์แปรปรวน ร้องไห้ ไม่สามารถควบคุมตนเอง ความกังวลอาจเกิดจากเหตุการณ์ที่เกิดตามมา เช่น การพลัดหลง การเผชิญสถานการณ์ตามลำพัง ความกลัวจากการสูญเสีย การค้นหาผู้รอดชีวิต ความกลัวต่อสภาพสิ่งแวดล้อมที่กำลังวุ่นวายสับสน หรือการได้รับข้อมูลข่าวสารที่น่ากลัวจากเหตุการณ์นั้นอีก

อาการอื่นๆ ที่พบร่วมด้วย ได้แก่ความโศกเศร้าเสียใจจากการสูญเสีย (Grief reaction) เกิดจากการสูญเสียคนรักหรือทรัพย์สิน หมดหวัง ท้อแท้ รู้สึกไม่สามารถควบคุมเหตุการณ์ใดๆ ได้ ภาวะซึมเศร้าและฆ่าตัวตาย (Depression and suicide) ภาวะซึมเศร้าอาจเกิดต่อเนื่องจากเหตุการณ์ในสัปดาห์แรกหรือเริ่มเกิดภายหลัง ประกอบด้วยอาการหลายอย่าง ได้แก่ อารมณ์ไม่สดชื่นร่าเริง เบื่อหน่าย ท้อแท้ ขาดความสุข เบื่ออาหาร น้ำหนักลด นอนไม่หลับ สมาธิสั้น วอกแวกง่าย ความจำเสีย หมดแรง เหนื่อยหน่าย คิดว่าตนเองเป็นภาระให้ผู้อื่นลำบาก รู้สึกผิดที่ตนเองรอดชีวิตหรือไม่สามารถช่วยเหลือคนอื่นได้ คิดว่าตนเองไร้ค่า อาการซึมเศร้าอาจรุนแรงมากจนคิดว่าตนเองผิด เบื่อชีวิต คิดอยากตาย หรือคิดฆ่าตัวตายได้

การซักประวัติและการตรวจประเมินทางจิต

อ้างอิงเกณฑ์การวินิจฉัยโรคเครียดหลังประสบเหตุการณ์ร้ายแรง ตามเกณฑ์ของ Diagnostic and Statistical Manual of Mental Disorders-ฉบับที่ 5 (DSM-5) ดังนี้

A. บุคคลเผชิญกับเหตุการณ์ที่อันตรายถึงแก่ชีวิต หรือคุกคามชีวิต หรือได้รับบาดเจ็บรุนแรง หรือถูกล่วงละเมิดทางเพศ อย่างน้อย 1 ข้อ ในลักษณะใดลักษณะหนึ่งดังต่อไปนี้

  1. เป็นผู้ประสบเหตุโดยตรง
  2. เป็นพยานรู้เห็นเหตุการณ์ที่เกิดกับผู้อื่น
  3. ได้รับรู้เหตุการณ์ที่เกิดกับคนในครอบครัวหรือเพื่อนสนิท
  4. ได้ประสบกับรายละเอียดอันน่าสยดสยองของเหตุการณ์นั้นซ้ำๆ (ไม่นับการรับรู้ผ่านทางสื่อ หากไม่เกี่ยวข้องกับงาน)

B. มีอาการอย่างน้อย 1 อย่างของการรับรู้เหตุการณ์ดังกล่าวผุดขึ้นมาซ้ำๆ หลังประสบเหตุการณ์ดังต่อไปนี้

  1. มีความทรงจำเกี่ยวกับเหตุการณ์นั้นผุดขึ้นมาซ้ำๆ ไม่สามารถควบคุมได้ และทำให้เกิดความทุกข์ทรมาน
  2. มีฝันร้ายซ้ำๆ ที่มีเรื่องราวเกี่ยวกับเหตุการณ์นั้น
  3. มี Dissociative reaction เช่น รู้สึกเหมือนอยู่ในเหตุการณ์นั้นขึ้นมาเอง และตกใจกลัวรุนแรงโดยอาจไม่มีเหตุกระตุ้น (Flashback) แล้วเกิดอาการทางร่างกายที่แสดงความวิตกกังวล เช่น ใจสั่น มือสั่น เหงื่อออกมาก สับสน
  4. มีความทุกข์ทรมานจิตใจอย่างรุนแรงและยาวนานเมื่อเผชิญกับสิ่งที่กระตุ้นให้นึกถึงเหตุการณ์
  5. มีปฏิกิริยาทางกายอย่างชัดเจนเมื่อเผชิญกับสิ่งที่กระตุ้นให้นึกถึงเหตุการณ์

C. หลีกเลี่ยงสิ่งเร้าที่สัมพันธ์กับเหตุการณ์หลังเผชิญเหตุการณ์นั้นโดยมีลักษณะอย่างน้อย 1 อย่าง ดังต่อไปนี้

  1. พยายามหลีกเลี่ยงความทรงจำ ความคิด ความรู้สึกที่สัมพันธ์กับเหตุการณ์นั้น
  2. พยายามหลีกเลี่ยงสิ่งเร้าภายนอกที่ทำให้ระลึกถึงหรือรู้สึกถึงเหตุการณ์นั้น เช่น บุคคล สถานที่ บทสนทนา กิจกรรม วัตถุ สถานการณ์

D. มีการเปลี่ยนแปลงของอารมณ์และความคิดการรับรู้ต่อเหตุการณ์ไปในทางลบ หลังเกิดเหตุการณ์ โดยมีลักษณะอย่างน้อย 2 อย่าง ดังต่อไปนี้

  1. จำส่วนสำคัญของเหตุการณ์นั้นไม่ได้ (มักเป็น Dissociative amnesia และไม่ได้เกิดจากปัจจัยอื่น เช่น การกระทบกระเทือนที่ศีรษะ แอลกอฮอล์ หรือยา/สารเสพติด)
  2. คาดหวังหรือมีความเชื่อต่อตนเอง ผู้อื่น และโลกภายนอกไปในทางลบมากเกินไปอย่างต่อเนื่อง เช่น ฉันมันไม่ดี เชื่อใจใครไม่ได้ โลกเป็นที่อันตราย เป็นต้น
  3. มีความคิดการรับรู้ที่บิดเบือนอย่างต่อเนื่องเกี่ยวกับสาเหตุหรือผลที่ตามมาจากเหตุการณ์ดังกล่าว จนทำให้โทษตนเองหรือบุคคลอื่น
  4. มีอารมณ์ด้านลบที่ยาวนาน (เช่น หวาดกลัว สะพรึงกลัว โกรธ รู้สึกผิด ละอาย)
  5. มีความสนใจในกิจกรรมที่สำคัญลดลงอย่างชัดเจน
  6. รู้สึกแปลกแยกจากบุคคลอื่น
  7. ไม่สามารถมีอารมณ์ด้านบวก (เช่น มีความสุข พึงพอใจ หรือรัก) ได้เลย

E. มีการเปลี่ยนแปลงความตื่นตัวที่สัมพันธ์กับเหตุการณ์ โดยเริ่มเป็นหรือมีอาการแย่ลงหลังเกิดเหตุการณ์ โดยมีลักษณะอย่างน้อย 2 อย่าง ดังต่อไปนี้

  1. หงุดหงิด ระเบิดอารมณ์โกรธ และมีพฤติกรรมก้าวร้าวต่อบุคคลอื่นหรือวัตถุ ทางวาจาหรือการกระทำ แม้ไม่มีสิ่งกระตุ้นหรือมีสิ่งกระตุ้นเพียงเล็กน้อย
  2. กระสับกระส่ายหรือมีพฤติกรรมทำลายตนเอง
  3. ระแวดระวัง (Hypervigilance)
  4. สะดุ้งตกใจง่ายเกินเหตุ
  5. มีปัญหาสมาธิ
  6. มีปัญหาการนอน เช่น หลับยาก หรือหลับๆ ตื่นๆ หรือนอนกระสับกระส่าย

F. มีอาการดังกล่าวนานเกิน 1 เดือน

G. อาการเหล่านี้ก่อให้เกิดความทุกข์ทรมานอย่างมีนัยสำคัญทางการแพทย์ หรือการทำหน้าที่ด้านสังคม การงาน หรือด้านอื่นๆ ที่สำคัญบกพร่องไป

H. อาการไม่ได้เป็นจากผลของยาหรือสารเสพติดหรือโรคทางกาย

ชนิดย่อยของโรค posttraumatic stress disorder (PTSD)

  1. ชนิดมีอาการ dissociation (with dissociative symptom) เช่น รู้สึกว่าตนเองเปลี่ยนแปลงไปจากปกติ (depersonalization) หรือรู้สึกว่าสิ่งที่อยู่แวดล้อมภายนอกผิดไปจากที่ควรจะเป็น (Derealization)
  2. ชนิดอาการเกิดช้า (with delayed expression)มีอาการครบเกณฑ์วินิจฉัยของ PTSD หลังประสบเหตุการณ์ร้ายแรงแล้ว 6 เดือนขึ้นไป

การช่วยเหลือเบื้องต้นแก่ผู้ประสบเหตุการณ์ร้ายแรง

การช่วยเหลือประคับประคองทางจิตใจแก่ผู้ประสบเหตุการณ์ร้ายแรง ควรรีบดำเนินการร่วมกับทีมช่วยเหลือทางร่างกายและด้านอื่นๆ ในระยะแรกหลังประสบเหตุการณ์ร้ายแรงใช้วิธีปฐมพยาบาลทางจิตใจ (psychological first aid) ดังนี้

  • การสร้างความสัมพันธ์ หลีกเลี่ยงการอยู่ลำพัง และให้ความมั่นใจว่าสามารถช่วยแก้ไขปัญหาได้
  • ให้ความปลอดภัย ความเป็นส่วนตัว ให้อยู่กับบุคคลใกล้ชิด
  • ให้ความรู้เรื่องปฏิกิริยาทางจิตใจ เพื่อให้เข้าใจว่าไม่ใช่โรคจิตประสาท สามารถหายได้
  • ช่วยเหลือทางจิตใจเพื่อให้กลับไปดำเนินชีวิตตามปกติโดยเร็ว สอนวิธีคลายเครียด
  • ค้นหาความต้องการและให้ความช่วยเหลือตามความต้องการ
  • สร้างช่องทางช่วยเหลือที่เข้าถึงได้ การให้ความรู้ (Psycho-education) ให้ความรู้แก่ผู้ป่วย ครอบครัว และผู้เกี่ยวข้อง เรื่องอาการทางจิตใจหลังประสบเหตุการณ์ร้ายแรง เพื่อให้เข้าใจอาการที่เกิดขึ้นซึ่งสามารถหายได้ หากได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง การรักษาทางยานั้นให้ส่งต่อไปแพทย์เฉพาะทาง

Inforgraphic กรมสุขภาพจิต

poster