

สัปดาห์ก่อนมีคนถามว่ามีแนวทางวินิจฉัยวัณโรคปอดจากการทำงานในบุคลากรทางการแพทย์หรือไม่ จึงได้ลองคิดดู พอดีสมาคมโรคฯ ได้ออกแนวทางวินิจฉัย COVID-19 จากการทำงานออกมา ผมคิดว่าน่าจะใช้แนวทางนี้ได้เช่นกัน
สมาคมโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศไทย ได้รับคำร้องขอจากกองทุนเงินทดแทนให้จัดทำแนวทางวินิจฉัยการเป็น COVID-19 จากการทำงานเนื่องจากมีลูกจ้างเป็นมากขึ้น ทางสมาคมได้ประชุมกับกรรมการและมีความคิดเห็นออกเป็นแนวทางที่ได้แนบมาดังรูปด้านล่างแล้ว ซึ่งกองทุนเงินทดแทน โดยคณะกรรมการแพทย์ ได้พิจารณาผ่านและประกาศไปเรียบร้อยแล้ว
ก่อนหน้านี้ ผมได้ไปสืบค้นมาว่า COVID-19 ได้รับการยอมรับให้เป็นโรคจากการทำงานแล้ว มีหลายประเทศประกาศให้ COVID-19 เป็น โรคจากการทำงาน เช่น ฝรั่งเศส ฮ่องกง มาเลเซีย ฯลฯ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อการชดเชย ค่ารักษาพยาบาล และที่สำคัญคือเพื่อป้องกัน โดยนายจ้างจะต้องจัดให้ที่ทำงานปลอด COVID-19 และป้องกันคนงานจาก COVID-19 ด้วย เนื่องจากเป็นโรคจากการทำงาน นายจ้างมีส่วนต้องรับผิดชอบ แนวทางการวินิจฉัยโรคนี้สามารถนำหลัก nine steps of occupational diseases diagnosis ของสถาบันฯ มาใช้ได้คือ
- มีโรคเกิดขึ้นจริง โดยใช้ประวัติ การตรวจร่างกายและการตรวจ PCR ในการวินิจฉัย
- มี agent อยู่ในที่ทำงานของผู้ป่วย เช่น ทำงานเป็น air hostess ขณะทำงานบนเครื่องมีผุ้โดยสารป่วยเป็น COVID
- มีการสัมผัสสิ่งคุกคาม คือมีประวัติไปใกล้ชิดผู้ป่วยในระยะเสี่ยงถึงเสี่ยงสูง
- มีลำดับก่อนหลังในการเกิดโรค คือติดเชื้อหลังจากทำงานนั้นๆ แล้ว ก่อนหน้านี้ไม่เป็น ระยะเวลาการเป็นคือ 10-14 วันตามการฟักตัวของโรค
- การสัมผัสนั้นมีระยะเวลานานพอ ยังไม่มีการศึกษาว่าระยะเวลานานเท่าไร แต่ในนิยามของความเสี่ยงสูงคืออยู่ในห้องเดียวกันมากกว่า 15 นาที หรือพูดคุยกันเกิน 5 นาที สว่นความเข้มข้นนั้น คงต้องบอกว่าผู้ที่ไปสัมผัสอยู่ในระยะแพร่เชื้อได้ไม่ได้ใส่หน้ากาก
- มีข้อมูลทางระบาดวิทยาสนับสนุน คือมีข้อมูลการเป็น แน่นอนในโรคระบาดมีข้อมูลมากมายสนับสนุน
- มีการวินิจฉัยแยกโรค อื่นๆ ในกรณีโรคติดเชื้อที่ยืนยันโดยการติดเชื้อคงไม่ต้องมี การวินิจฉัยแยกโรคอื่นๆ แล้ว
- ปัจจัยสนับสนุนหรือคัดค้าน ควรเป็นเรื่องการใส่ หรือไม่ใส่ PPE และเหมาะสมหรือไม่
- นำข้อมูลมาประกอบการพิจารณาวินิจฉัย จะเห็นว่าเมื่อนำหลักการ 9 Steps มาใช้ ก็จะเข้ากันได้กับแนวทางวินิจฉัยโรคที่สมาคมฯ จัดทำขึ้น