background
พุธ, 16 กันยายน 2020

เกณฑ์วินิจฉัยโรค Karoshi

โรค Karoshi หรือ ที่เรียกว่าทำงานจนตาย โรค Karoshi หรือ ที่ญี่ปุ่น ไต้หวัน และ เกาหลีใต้ เรียกว่าทำงานจนตาย เป็นโรคที่ชดเชยได้ คือเป็นโรคจากการทำงาน เป็นการที่ทำงานหนักจนเกิดโรคทางหัวใจและเส้นเลือดสมอง (overworked related cardiovascular and cerebrovascular disease) โดย เกณฑ์การวินิจฉัยที่ประเทศญี่ปุ่นและไต้หวันจะคล้ายกัน แต่ที่ประเทศเกาหลีใต้จะต่างกันออกไป โดยพบว่าปัจจัยสำคัญมากสองอย่างที่เกี่ยวข้องกับ Karoshi คือ ระยะเวลาทำงานที่ยาวนาน และมีความเครียดในงานมากเกินไป

สาเหตุของ Karoshi

เมื่อมีความเครียดสมองจะสั่ง ให้หลั่งฮอร์โมน เราเรียกว่า sympathetic adrenomedullary system โดยจะหลั่งฮอร์โมน catecholamine ออกมาสองตัวคือ epinephrine และ norepinephrine และ ต่อมไต้สมองโดย hypothalamic pituitary adrenocortical system จะหลั่งcortisol ซึ่งฮอร์โมนเหล่านี้เราเรียกว่าตัวชี้วัดความเครียด (stress indicator) เนื่องจากจะวัดได้ในเลือดและปัสสาวะเวลาร่างกายเกิดความเครียด เมื่อเกิดความเครียดฮอร์โมนเหล่านี้จะถูกหลั่งออกมาในเลือดทำให้เกิดการปลดปล่อยพลังงาน น้ำตาล และกรดไขมัน ทำให้เกิดการตอบสนองต่อความเครียดซึ่งเป็นปฏิกิริยาช่วยชีวิตในคน โดยเฉพาะเมื่อเจอภาวะฉุกเฉิน เมื่อมนุษย์พบเหตุการณ์เครียดก็จะมีกลไกตอบสนอง เพื่อลดความเครียดนั้นลง การตอบสนองขึ้นกับสภาวะทางสรีระหรือจิตใจของคนนั้นๆ ถ้าไม่สามารถจัดการความเครียดได้ก็จะหลงเหลือความเครียดอยู่ (residual stress) ซึ่งทำให้เกิดกลไกจิตบังคับกาย หรือแสดงออกทางร่างกาย หรือเกิดโรคได้ ความเครียดที่หลงเหลือทำให้มีระดับ catecholamine สูงในเลือดตลอด และทำให้ความดันโลหิตขึ้น ซึ่งจะทำให้เส้นเลือดแข็งและหนาตัว เกิดความดันเลือดสูงขึ้นอีก และทำให้เป็นโรคของหลอดเลือด นอกจากนี้ฮอร์โมนเหล่านี้ยังทำให้เกิดระดับไขมันในเลือดสูง มีการแข็งตัวของเลือด และหลอดเลือดตีบ โดยฮอร์โมน epinephrine และ norepinephrine จะเกี่ยวข้องกับโรคความดันโลหิตสูง กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด และโรคหลอดเลือดสมอง ส่วน cortisol ยังทำให้เกิดโรคของหัวใจและหลอดเลือด เบาหวาน ลดภูมิคุ้มกัน และภาวะพุทธิปัญญาเสื่อมลง มีงานวิจัยพบว่าผู้หญิงที่ทำงานมากกว่าสัปดาห์ละ 50 ชั่วโมงจะมีระดับ cortisol สูงเป็นสองเท่าของผู้หญิงที่ทำงานปานกลาง

barrier

นอกจากนี้ยังมีปัจจัยทางจิตวิทยาเช่นปัจจัยเรื่อง job demand control ตามทฤษฏีของ Karasek และ Theorell ถ้าเกิดความไม่สมดุลกันระหว่างความต้องการจากงาน (Job demand) กับการควบคุมงาน (Job control) อาทิ มีความต้องการปริมาณงาน เช่นงานที่ต้องใช้ทักษะ แต่คนทำงานไม่มีประสบการณ์ทำให้ไม่สามารถควบคุมงานให้เป็นไปดังใจได้ ซึ่งจะทำให้เกิดความเครียดขึ้น

เกณฑ์การวินิจฉัย Karoshi ของประเทศไต้หวัน (2010)

ชื่อโรคหัวใจและหลอดเลือดที่เกิดจากการทำงานหนัก

โรคหัวใจและหลอดเลือด

  1. โรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด (Myocardial infarction)
  2. โรคหัวใจวายแบบเฉียบพลัน (Acute heart failure)
  3. การแยกของเส้นเลือดแดงเอออร์ต้าโป่งพอง (Dissecting aneurysm of the aorta)
  4. การเจ็บหน้าอกจากกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด (Angina pectoris)
  5. หัวใจหยุดเต้น (Cardiac arrest)
  6. การตายจากโรคหัวใจกะทันหัน (Sudden cardiac death)
  7. หัวใจเต้นผิดจังหวะอย่างรุนแรงเฉียบพลัน (Serious cardiac arrythmia)

โรคหลอดเลือดสมอง

  1. โรคเส้นเลือดสมองแตก
  2. โรคเส้นเลือดสมองตีบ
  3. เลือดออกใต้เยื่อหุ้มสมอง (Subarachnoid hemorrhage)
  4. สมองถูกทำลายจากความดันโลหิตสูงรุนแรง (Brain damage caused by severe hypertension)

นอกจากนี้โรคหัวใจและหลอดเลือดอื่นๆ ที่ไม่ใด้กล่าวถึงแต่ปัจจัยจากการทำงานมีส่วนทำให้เกิดโรค 50% หรือมากกว่า ให้ถือว่าเป็นโรคเนื่องจาก overwork ด้วย

การทำงานหนัก

เวลาการทำงาน (overwork criteria: working hours)

  1. มีการทำงานเต็มที่ 84 ชั่วโมง ทุกสองสัปดาห์

มี OT

  1. OT 92 ชั่วโมงหรือมากกว่าในช่วงหนึ่งเดือนก่อนเกิดเหตุ
  2. OT เฉลี่ย 72 ชั่วโมงหรือมากกว่า ต่อเดือนระหว่าง 2-6 เดือนก่อนเกิดเหตุ
  3. OT เฉลี่ย 37 ชั่วโมงหรือมากกว่าต่อเดือนระหว่างหกเดือนที่ผ่านมาก่อนเกิดเหตุ

จิตใจ เกณฑ์ทำงานหนัก (overwork criteria: psychological factors) – โดยใช้เครื่องมือวัด มี 3 แบบคือ

  1. เหตุการณ์ผิดปกติ: เหตุการณ์ซึ่งทำให้เกิดความเครีดยทางจิตใจ (extreme psychological tensions) ตื่นตระหนก (excitement) กลัว (fear) เครียด (stress) อย่างมาก การทำงานที่ต้องใช้แรงอย่างมาก หรือมีการเปลี่ยนแปลงสิ่งแวดล้อมในการทำงานอย่างมาก (dramatic change)
  2. การทำงานหนักระยะสั้น (short term overwork) การทำงาน OT อย่างมากก่อนเกิดเหตุ หรือมีสถานการณ์ที่ทำให้เกิดภาระหนักด้านจิตใจ (ตามที่ประเมินโดยใช้เครื่องมือ)
  3. การทำงานหนักระยะยาว การทำ OT ก่อนเกิดเหตุการณ์ (ดูเกณฑ์ OT) หรือสถานการณ์ที่ทำให้เกิดภาระหนักทางจิตใจหรือสุขภาพจิต ตามที่เครื่องมือใช้ประเมิน

พื้นที่เกิดเหตุ

ไม่จำเป็นต้องเป็นที่ทำงาน

การพิสูจน์

นายจ้าง

เกณฑ์การวินิจฉัยโรคเส้นเลือดสมองและหัวใจที่เกิดจากการทำงานหนักเกิน ของประเทศเกาหลีใต้ (กรกฏาคม 2013)

โรคของเส้นเลือดสมอง และ หัวใจ ได้แก่ เลือดออกในสมอง เลือดออกใต้เยื่อหุ้มสมอง เส้นเลือดสมองตีบ กล้ามเนื้อหัวใจตายจากขาดเลือด และ การแตกของเส้นเลือดเอออร์ติกโป่งพอง ที่เกิดหรือกระตุ้นให้มีอาการโดยสาเหตุจากการทำงานต่อไปนี้คือ (ไม่ใช่โดยการดำเนินโรคปกติ)

  1. การเปลี่ยนแปลงสภาพงานอย่างทันทีทันใด และไม่สามารถคาดเดาได้ และความเครียดทางจิตใจ การตื่นตระหนก ความกลัว ตกใจ ฯลฯ ซึ่งทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางสรีรวิทยาในตัวลูกจ้าง
  2. การทำงานหนักระยะสั้นเช่นการเพิ่มจำนวนงาน ระยะเวลาทำงาน ความเข้มข้นของงาน และการเปลี่ยนแปลงความรับผิดชอบ หรือสภาพงาน ซึ่งทำให้เกิดภาระหนักเกินทางสรีรวิทยาหรือจิตใจ
  3. การทำงานหนักระยะยาว เช่น การเพิ่มจำนวนงาน ระยะเวลาทำงาน ความเข้มข้นของงาน และการเปลี่ยนแปลงความรับผิดชอบ หรือสภาพงาน ซึ่งทำให้เกิดภาระหนักเกินทางสรีรวิทยาหรือจิตใจ

ข้อสังเกตจากกระทรวงจ้างงานและแรงงาน เกาหลีใต้

  1. โรคหลอดเลือดสมองและหลอดเลือดหัวใจจะเกิดภายใน 24 ชั่วโมงหลังมีเหตุการณ์ที่ทำให้เครียด
  2. การทำงานหนักระยะสั้นหมายถึงการทำงานหนักขึ้นหรือเพิ่มชั่วโมงทำงานภายในหนึ่งสัปดาห์ 30% หรือมากกว่า ก่อนเกิดโรค หรือ มีการเปลี่ยนแปลงภาระงานหรือชั่วโมงทำงานในขอบเขตซึ่งคนโดยทั่วไปยากที่จะปรับตัว
  3. การทำงานหนักระยะยาวคือการทำงานหนักติดต่อกัน 3 เดือนหรือมากกว่า การตัดสินใจว่าเป็นการทำงานหนักระยะยาวจะต้องพิจารณาทั้งหมดคือ ภาระงาน ชั่วโมงการทำงาน ความเข้มข้นของงาน ความรับผิดชอบ วันหยุด งานกะหรืองานกลางคืน ความเข้มข้นของความตึงเครียดทางจิตใจ ชั่วโมงการนอน สภาพแวดล้อมในการทำงาน อายุ เพศ และสภาวะสุขภาพ สำหรับต้นเหตุเกี่ยวกับชั่วโมงการทำงานจะต้องพิจารณาดังต่อไปนี้
    1. ความสัมพันธ์ระหว่างงานและโรคหลอดเลือดสมองและหัวใจที่เกิดจะมากถ้าชั่วโมงการทำงานเฉลี่ยต่อสัปดาห์มากกว่า 60 ชั่วโมง ในช่วง 12 สัปดาห์ก่อนเกิดโรค (หรือ 64 ชั่วโมงโดยเฉลี่ยในช่วง 4 สัปดาห์ก่อนเกิดโรค)
    2. ความสัมพันธ์ระหว่างงานและโรคจะค่อยๆเพิ่มขึ้นถ้าการเพิ่มของชั่วโมงทำงานยาวขึ้น แม้ว่าเฉลี่ยจะไม่เกิน 60 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ในช่วง 12 สัปดาห์ก่อนเกิดโรค (หรือ 64 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ใน 4 สัปดาห์ก่อนเกิดโรค) ในกรณีงานกลางคืน ก็จะเกิดภาระทางสรีรวิทยาและจิตใจมากกว่า

ข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุข แรงงาน และสวัสดิการ ของประเทศญี่ปุ่น

นำมาจากข้อสรุปของผู้เชี่ยวชาญ ได้สรุปเกี่ยวกับ Karoshi ว่า

  1. งาน ซึ่งมองเห็นได้ชัดเจนว่ามีมาก และทำในช่วงก่อนเกิดเหตุการโรคหลอดเลือดสมองหรือโรคหลอดเลือดหัวใจ ซึ่งพิสูจน์ได้ชัดเจนว่าเป็นสาเหตุให้เกิดโรคเหล่านี้ตามความรู้ทางการแพทย์ปัจจุบัน ดังนั้นแนวคิดว่าการทำงานหนักจึงทำให้เป็นโรคนี้จึงถูกต้อง
  2. การสะสม ความล้าเรื้อรัง จะทำให้เกิดโรคหลอดเลือดสมองและหัวใจได้ ดังนั้นการสะสมของความล้าเรื้อรังซึ่งไม่จำกัดเฉพาะเวลาก่อนจะเกิดโรคแต่เป็นช่วงก่อนห้นานั้นซึ่งชัดเจนว่ามีการทำงานหนักเกินไป
  3. การประเมินความหนักของงานจะต้องตรวจสอบในสภาพงานหกเดือนก่อนเป็นโรค และจะต้องประเมิ นว่างานที่หนักหรือความล้าที่สะสมมากนั้นทำให้เกิดการเลวลงของพยาธิสภาพ ซึ่งไม่เป็นไปตามการดำเนินโรคในธรรมชาติ กล่าวคือเกิดโรคขึ้นจากการทำงานหนักเกินไป
  4. นอกจากนี้ จะต้องประเมินผลของปัจจัยต่างๆ ได้แก่ ชั่วโมงการทำงาน ความไม่สม่ำเสมอของงาน ข้อจำกัดในงาน ระบบงานกะ และสภาพแวดล้อมในงาน รวมทั้งความเครียดทางจิตใจที่เกิดจากงานด้วย
  5. ถ้าเน้นที่ชั่วโมงทำงาน ปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดการสะสมความล้า ถ้าคนทำงานนั้น (1) ทำงานติดต่อกันนานหลายชั่วโมงมากจนเห็นได้ชัด (โดยปกติคือทำ OT มากกว่า 100 ชั่วโมง) ในช่วง 1 เดือนก่อนเกิดโรค หรือ (2) ทำงานหลายชั่วโมงติดต่อกันนาน (โดยปกติคือทำ OT มากกว่า 80 ชั่วโมงต่อเดือน) มากผิดปกติ ระหว่างสองถึงหกเดือนก่อนเกิดโรค ดังนั้นงานนั้นสัมพันธ์กับโรคอย่างชัดเจน
  6. ถ้าชี้บ่งไม่ได้ว่ามีการทำงาน OT มากกว่าเดือนละ 45 ชั่วโมงในช่วง หนึ่งถึงหกเดือนก่อนเกิดโรค ความสัมพันธ์ระหว่างงานกับโรคก็ไม่เกิดขึ้น จะบอกว่าโรคเกิดจากการทำงานได้ต่อเมื่อมีการทำงาน OT มากกว่าเดือนละ 45 ชั่วโมง
  7. ความดันโลหิตสูง การดื่มสุรา และการสูบบุหรี่เป็นปัจจัยเสี่ยงซึ่งทำให้เกิดโรคหลอดเลือดสมองและหลอดเลือดหัวใจได้ ในคนที่มีปัจจัยเสี่ยหลายอย่างจะเป็นโรคได้ง่ายขึ้น ดังนั้นจะต้องมีการศึกษาอย่างจริงจังเกี่ยวกับสภาวะสุขภาพผู้ป่วย โรคที่มีอยู่เดิม และภาระงานที่มีมากขึ้น เกี่ยวกับความสัมพันธ์ของงานกับการเกิด Karoshi ในกลุ่มคนเหล่านี้
barrier
barrier