ศุกร์, 09 ตุลาคม 2020

กฎกระทรวงกำหนดมาตรฐานการตรวจสุขภาพลูกจ้างซึ่งทำงานเกี่ยวกับปัจจัยเสี่ยง ปี 2563

main_image
main_image
main_image
main_image

มีกฎกระทรวงออก(ปรับ)ใหม่ ออกมาอีกหนึ่งฉบับจากกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เรื่อง กำหนดมาตรฐานการตรวจสุขภาพลูกจ้างซึ่งทำงานเกี่ยวกับปัจจัยเสี่ยง ปี 2563 โดยกฎกระทรวงลักษณะเดียวกันนี้ฉบับแรกออกเมื่อปี 2547 ชื่อว่า กฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการตรวจสุขภาพของลูกจ้าง และส่งผลการตรวจแก่พนักงานตรวจแรงงาน เนื้อหาใจความส่วนใหญ่ก็คล้ายเดิม แต่มีจุดเปลี่ยนแปลงอยู่บ้าง

  1. ตรวจสุขภาพตามปัจจัยเสี่ยง คำนี้กำกวมมาก ตีความได้เยอะ แต่ถ้าตรงไปตรงมาน่าจะเขียนว่าตามความเสี่ยงมากกว่า เพราะ มีกฎกระทรวง กฎหมายเรื่องการตรวจความเสี่ยงในการสัมผัส เช่น ประกาศกระทรวงอุตสาหกรรมเรื่องการประเมินความเสี่ยงด้านสารเคมีต่อสุขภาพผู้ปฏิบัติงานในโรงงานอุตสาหกรรม ปี 2511 และประกาศกรมสวัสฯ เรื่อง ขีดจำกัดความเข้มข้นของสารเคมีอันตราย เป็นต้น ถ้าเขียนว่าตามปัจจัยเสี่ยง หมายถึง hazard หรือไม่ เพราะถามกรรมการกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานแล้ว เขาบอกว่าคือ risk factor ไม่ใช่ risk ดังนั้น ถ้ามีปัจจัยเสี่ยงเช่นสารเคมี ก็ให้ตรวจ ??? เช่นกฎหมายฉบับที่แล้ว มีสารเคมีอันตราย แต่ไม่มีความเสี่ยงที่จะสัมผัส เจ้าหน้าที่ตรวจแรงงาน หรือ auditor ก็บอกให้ตรวจ น่าจะเอาผลการประเมินความเสี่ยงมาใช้ประโยชน์
  2. คุณสมบัติแพทย์ที่ตรวจตามกฎหมายนี้ ผมยังจำได้ดีถึงกฎกระทรวงฉบับแรก มีคนพูดถึงกันมากว่าจะหาแพทย์อาชีวเวชศาสตร์หรือแพทย์ที่ผ่านการอบรมที่ไหนมาตรวจ โดยในฉบับปี 2547 เขียนไว้ว่า ให้ตรวจโดยแพทย์แผนปัจจุบันชั้นหนึ่งที่ได้รับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพเวชกรรมด้านอาชีวเวชศาสตร์ หรือที่ผ่านการอบรมด้านอาชีวเวชศาสตร์ หรือมีคุณสมบัติตามที่อธิบดีประกาศกำหนด ซึ่งแพทย์แผนปัจจุบันชั้นหนึ่งที่ได้รับใบอนุญาติประกอบวิชาชีพเวชกรรมด้านอาชีวเวชศาสตร์ ในความเป็นจริงแล้วไม่มี แต่เป็นแพทย์ที่ได้รับอนุมัตบัตรหรือวุฒิบัตรเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์ป้องกันแขนงอาชีวเวชศาสตร์ ส่วนแพทย์ที่ผ่านการฝึกอบรมนั้น คือหลักสูตรความรู้พื้นฐานด้านอาชีวเวชศาสตร์ 2 เดือน ซึ่งเป็นหลักสูตรของสมาคมโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศไทย และกรมการแพทย์ สมัยนั้นถามไปปรากฏว่ากรมสวัสดิการฯ ให้คำตอบว่าต้องเป็นหลักสูตรที่แพทยสภารับรอง แพทยสภาไม่รับรองหลักสูตรระยะสั้นทุกชนิด เลยมีปัญหา ซึ่งผมแก้ปัญหาโดยให้กระทรวงสาธารณสุขรับรอง โดยขณะนั้นท่านอธิบดี นพ ชาตรี บานชื่น ได้รับรองให้และยื่นให้ท่านรองปลัดกระทรวงแรงงาน ในสมัยโน้น และรับรองว่าการอบรมโดยกรมการแพทย์นั้นเป็นไปตามกฏกระทรวงแล้ว ตอนที่กฎหมายออกในปี 2547 มีโรงงานโทรมาถามหาแพทย์อาชีวเวชศาสตร์กันมากมาย ในที่สุดก็ต้องแก้ปัญหากันแบบไทยๆ ไป พอมาถึงฉบับปี 2563 ได้มีการเปลี่ยนคุณสมบัติแพทย์ไปในข้อ 3 คือ แพทย์ซึ่งได้รับวุฒิบัตรหรือหนังสืออนุมัติสาขาเวชศาสตร์ป้องกันแขนงอาชีวเวชศาสตร์ หรือ ผ่านการอบรมด้านอาชีวเวชศาสตร์ ตามหลักสูตรที่กระทรวงสาธารณสุขรับรอง (ชัดเจนว่าไม่ใช่แพทยสภารับรอง) ตอนนี้เรามีแพทย์วุฒิบัตร และอนุมัตบัตร ประมาณ 200 คน และแพทย์ที่ผ่านการอบรมประมาณ 1500 คน ถ้าคิดง่ายๆ (เกินไปหรือเปล่าก็ไม่รู้) ว่าเรามีคนงานในระบบประกันสังคมอยู่ 11 ล้านคน แพทย์ หนึ่งคนตรวจร่างกายคนงาน ประมาณ 6740 คน คิดวันและเวลาทำงาน โดย 1 ปี มี 365 วัน มีวันหยุดเสาร์ อาทิตย์ ก็เหลือวันทำงาน 261 วัน ทำงานวันละ 8 ชั่วโมง ก็เท่ากับ 2,088 ชั่วโมง หรือ 87 วัน และยังมีวันหยุดราชการอีก ซึ่งคิดเสียว่าหยุดปีละ 20 วัน เราก็เหลือเวลาทำงานเท่ากับ 87 -20 เท่ากับ 67 วัน เท่านั้นเอง ดังนั้น แพทย์ตามที่กำหนด 1 คน มีเวลาตรวจคนงานได้ วันละ 100 คน ซึ่งดูเหมือนจะพอ แต่ถ้าคิดว่าแพทย์จะกระจุกตัวต่างพื้นที่กัน และการตรวจวันละ 100 คน ก็เท่ากับ คนละ 14.8 นาที หมายความว่าทั้งชีวิตไม่ต้องทำไร ตรวจร่างกายอย่างเดียว ซึ่งจริงแล้ว ใช้เวลามากกว่านี้มาก คือรวมทั้งการอ่านผล การทำรายงาน และแพทย์คนหนึ่งก็ไม่ได้ทำแต่งานตรวจร่างกายตลอดทั้งปี ต้องทำงานอาชีวอนามัยเรื่องอื่นๆ ด้วย และถ้าตรวจสุขภาพก็ยังต้องมีการกำหนด มีการ walkthrough survey ซึ่งต้องใช้เวลามาก กฎหมายไม่ได้เขียนไว้ แต่เผอิญผมได้เป็นอนุกรรมการยกร่างจัดทำกฏหมายประกอบกฏกระทรวงฉบับนี้ (ซึ่งไม่สามารถเปลี่ยนแปลงเนื้อหาได้) สอบถามแล้วว่าการกำหนดการตรวจสุขภาพนั้นใครเป็นคนทำ เขาบอกว่าเป็นหน้าที่ของแพทย์อาชีวเวชศาสตร์ แต่แปลกที่ไม่ได้เขียนเข้าไปในกฎกระทรวง อย่างไรก็ดี ยังขาดแพทย์อยู่ดี ก็ต้องแก้ใขปัญหาขาดแพทย์กันต่อไป
  3. การตรวจสุขภาพ ยังคงเหมือนเดิมกำหนดนิยามในข้อ 2 ว่าการตรวจร่างกายและสภาวะทางจิตใจตามวิธีทางการแพทย์ เพื่อให้ทราบถึงความเหมาะสมของสภาวะสุขภาพของลูกจ้างหรือผลกระทบต่อสุขภาพของลูกจ้างอันอาจเกิดจากการทำงานเกี่ยวกับปัจจัยเสี่ยง อันนี้ ก็ยังยากในการปฏิบัติ ตามกฎหมายฉบับเดิม ก็แค่ตรวจร่างกาย แต่ไม่ได้ตรวจสภาวะทางจิตใจ ซึ่งเป็นหัวข้อสำคัญที่น่าจะมีการกำหนดให้แน่นอน (เช่นตอนนี้มีคนพูดถึงการตรวจสภาพจิตคนทำงานเป็นครูด้วย)
  4. สภาพแวดล้อมอื่นที่อาจเป็นอันตรายต่อสุขพหาพของลูกจ้าง เช่น ฝุ่นฝ้าย ฝุ่นไม้ ไอควันจากการเผาไหม้ อันนี้เขากำหนดเพิ่มมา เพราะเขาคิดว่าขาดเรื่องฝุ่นไป อันนี้เขากำหนดเพิ่มมา เพราะเขาคิดว่าขาดเรื่องฝุ่นไป เพราะฝุ่นไม้ไม่ได้ถูกประกาศเป็นสารเคมีอันตราย และในโรคจากการทำงานของกองทุนเงินทดแทนก็มีโรคจากฝุ่นไม้ และฝุ่นจากการเผาไหม้ ฯลฯ แต่จริงๆ ฝุ่นเป็น รูปแบบหนึ่งของการเป็นพิษต่อร่างกาย ถ้าผลทางกายภาพก็ทำให้เกิดการระคายเคือง แต่ถ้าเป็นผลทางเคมี ตามชนิดของฝุ่นก็น่าจะอยู่ในข้อ 1 คือ ปัจจัยเสี่ยงเรื่องสารเคมีอันตราย ตามที่อธิบดีประกาศกำหนด ข้อนี้เลยดูแปลกๆแต่จริงๆ ฝุ่นเป็น รูปแบบหนึ่งของการเป็นพิษต่อร่างกาย ถ้าผลทางกายภาพก็ทำให้เกิดการระคายเคือง แต่ถ้าเป็นผลทางเคมี ตามชนิดของฝุ่นก็น่าจะอยู่ในข้อ 1 คือ ปัจจัยเสี่ยงเรื่องสารเคมีอันตราย ตามที่อธิบดีประกาศกำหนด ข้อนี้เลยดูแปลกๆ
  5. ระยะเวลาการตรวจสุขภาพ ยังคงระยะเวลาเดิมไว้ คือกำหนด ตรวจครั้งแรกให้เสร็จสิ้นภายในเวลา 30 วัน นับแต่รับลูกจ้างเข้าทำงาน และให้มีการตรวจครั้งต่อไปอย่างน้อยปีละหนึ่งครั้ง ซึ่งการทำงานกับปัจจัยเสี่ยงบางอย่างไม่จำเป็นต้องตรวจปีละ หนึ่งครั้ง เช่นทำงานเกี่ยวกับเสียง ในบางประเทศกำหนดให้ตรวจ base line และตรวจ 2 ปีครั้งถ้าระดับเสียงไม่เกินค่ากำหนด หรือการตรวจ pneumoconiosis บางประเทศในช่วงปีแรกๆที่เข้าทำงานไม่จำเป็นต้องตรวจ (ระยะฟักตัวประมาณ 15 ปี) เป็นต้น แต่ในข้อ 3 (1) กำหนดไว้เลยว่าปีละหนึ่งครั้ง ข้ออื่นๆ ก็ยังคงเดิม ดังนั้นแม้ไม่มีความเสี่ยงก็ต้องตรวจปีละ 1 ครั้ง เพราะกฎหมายบังคับไว้
  6. การหยุดงานและกลับเข้าทำงาน อันนี้ในกฎกระทรวงฉบับเก่าเขียนว่านายจ้างอาจ…… แต่ในฉบับใหม่นี้ บอกว่าต้องทำ คือในกฎกระทรวงข้อ 4 กำหนดไว้ว่าในกรณีที่ลูกจ้างที่ทำงานเกี่ยวกับปัจจัยเสี่ยง หยุดงานตั้งแต่สามวันทำงานติดต่อกันขึ้นไป เนื่องจากประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยไม่ว่ากรณีใดๆ ก่อนให้ลูกจ้างกลับเข้าทำงาน ให้นายจ้างขอความเห็นจากแพทย์ผู้รักษาหรือแพทย์ประจำสถานประกอบกิจการ หรือจัดให้มีการตรวจสุขภาพโดยแพทย์ ฯ โดยบันทึก (ข้อ 5) รายละเอียดเกี่ยวกับการตรวจสุขภาพ โดยให้ระบุความเห็นที่บ่งบอกถึงสภาวะสุขภาพของลูกจ้างที่มีผลกระทบหรือเป็นอุปสรรคต่อการทำงานหรือลักษณะงานตามที่ได้รับมอบหมายของลูกจ้าง ในข้อนี้ใบรับรองแพทย์ต้องมีผลการตรวจร่างกาย และมีความเห็นเรื่องการกลับเข้าทำงาน ซึ่งแพทย์ที่สามารถออกให้ได้คือ แพทย์ผู้รักษา แพทย์ประจำสถานประกอบกิจการ หรือให้แพทย์ วุฒิบัตรหรือนุมัติบัตร หรือผ่านการอบรม ตรวจสุขภาพแล้วให้ความเห็น จะเห็นว่ามีทางเลือกสองทางตามกฎกระทรวง ซึ่งก็ต้องตีความอีก คือ ให้บอกสภาวะสุขภาพที่มีผลกระทบหรือเป็นอุปสรรคต่อการทำงานเท่านั้น หรือให้บอกว่ากลับเข้าทำงานได้หรือไม่ได้ เพราะอะไร ไม่ต้องบอกเงื่อนไข แต่ตามหลักแล้ว ใบรับรองแพทย์ควรจะต้องออกมาให้ชัดเจน ว่า ทำงานได้ ทำงานได้โดยมีเงื่อนไข หรือทำงานไม่ได้ ฯลฯ อันนี้ จะออกมาหลากหลายมาก ต้องให้สมาคมวิชาชีพฯ คือสมาคมโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อมเป็นคนกำหนด เพื่อลดความสับสนของผู้ใช้กฎหมายข้อนี้ด้วย ข้อนี้ดีครับ คนงานจะได้ประโยชน์มาก นายจ้างก็รักษาทรัพยากรมนุษย์ไว้ได้
  7. การรายงานผล กฎกระทรวงกำหนดไว้ไม่แตกต่างจากเดิมคือให้รายงานผล ภายในสามวัน เจ็ดวัน ถ้าเร่งด่วน และตามปกติ ตามลำดับ ภายหลังจากที่ทราบผลการตรวจ เรื่องนี้ต้องระวัง สถานประกอบการจะต้องกำหนดเองให้ผู้ตรวจสุขภาพรายงานผลทันทีที่ผิดปกติ ในเรื่องที่เกี่ยวกับปัจจัยเสี่ยงและโรคร้ายแรงเช่นวัณโรค เนื่องจากว่าบางครั้งผู้ตรวจสุขภาพต้องใช้เวลารวบรวม รายงานผลบางครั้ง 7 วันหรือ 14 วันจึงจะรายงานมาที่สถานประกอบการ ตามความยุ่งยาก ดังนั้นเท่ากับว่า ถ้าเร่งด่วน ลูกจ้างจะได้รับการแจ้งผลภายใน 7 หรือ 14 + 3 คือ 10 หรือ 17 วันหลังการตรวจ จึงควรตกลงกับผู้ตรวจสุขภาพไว้ด้วย
  8. การเก็บข้อมูลการตรวจสุขภาพ กฎกระทรวงฉบับใหม่นี้เพิ่มเวลาเก็บผลการตรวจสุขภาพ จาก 2 ปี โดยเพิ่มการตรวจเกี่ยวกับปัจจัยเสี่ยงที่เป็นสารก่อมะเร็ง เป็น 10 ปี ซึ่งมีประโยชน์เนื่องจากการเกิดโรคมะเร็งนั้นใช้เวลานานหลายปี บางครั้งลูกจ้างเองก็อาจจะลืมการสัมผัสไป
  9. ข้อ 13 ภายในสามปีนับแต่กำหนดใช้ ให้ถือว่าแพทย์ปัจจุบันชั้นหนึ่งที่ผ่านการอบรมด้านอาชีวเวชศาสตร์ ผ่านการอบรมด้านอาชีวเวชศาสตร์ตามหลักสูตรที่กระทรวงสาธารณสุขรับรองที่เคยตรวจใด้ตามกฏหมายฉบับเก่าสามารถตรวจต่อไปได้ แต่หลังสามปีให้เหลือแค่ แพทย์ซึ่งได้รับวุฒิบัตรหรือหนังสืออนุมัติสาขาเวชศาสตร์ป้องกันแขนงอาชีวเวชศาสตร์ หรือ ผ่านการอบรมด้านอาชีวเวชศาสตร์ ตามหลักสูตรที่กระทรวงสาธารณสุขรับรอง ตามข้อ 3 ซึ่งข้อนี้มีความสับสนมาก จากการสอบถามคณะกรรมการผู้ออกกฏกระทรวง ที่ออกข้อนี้มาเนื่องจาก ก่อนหน้านี้ มีการอบรมหลักสูตร 10 วัน (เนื่องจากช่วงนั้นขาดแพทย์มาก) แต่อบรมได้สองรุ่น เพราะแพทย์ที่ผ่านการอบรมไป ความรู้ไม่พอเพียง จึงยกเลิก ทางกรมสวัสดิการฯ ที่ออกกฎกระทรวงข้อ 13 นี้ จึงออกมาว่ายังให้สามารถตรวจต่อไปได้ แต่ขอเวลาสามปีสำหรับเปลี่ยนผ่าน โดยเหลือแค่ตามข้อ 3 ซึ่งข้อนี้ทางผู้ออกกฎหมายไม่ได้สอบถามมายังสมาคมวิชาชีพเลย จึงไม่ทราบว่ามีการกำหนดไปแล้ว ว่าแพทย์อาชีวเวชศาสตร์คือ แพทย์ซึ่งได้รับวุฒิบัตรหรือหนังสืออนุมัติสาขาเวชศาสตร์ป้องกันแขนงอาชีวเวชศาสตร์ (ตามหลักสูตรของแพทยสภา) และแพทย์ที่ผ่านการอบรมความรู้พื้นฐานด้านอาชีวเวชศาสตร์หลักสูตร 2 เดือนคือแพทย์ผู้ผ่านการอบรม และได้ยกเลิกแพทย์ 10 วันไปนานแล้ว โดยไม่ต้องมีการเปลี่ยนผ่านตามข้อ 13 เลย จะเห็นว่ากฏกระทรวงจากกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เรื่อง กำหนดมาตรฐานการตรวจสุขภาพลูกจ้างซึ่งทำงานเกี่ยวกับปัจจัยเสี่ยง ปี 2563 นี้มีการเปลี่ยนแปลงไม่มาก ที่ควรเปลี่ยนยังไม่ได้ปรับปรุง เช่น ตามปัจจัยเสี่ยง หรือตามความเสี่ยง (เป็นการเข้าใจผิดหรือไม่ก็ไม่รู้ แต่สอบถามกรรมการแล้วน่าจะเข้าใจถูกต้องว่าตามปัจจัยเสี่ยงของกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานคือตาม hazard ) แต่ที่น่าสนใจคือการให้มีการตรวจสุขภาพเพื่อกลับเข้าทำงาน ในผู้หยุดงานเพียง 3 วัน เพื่อโดยให้ระบุความเห็นที่บ่งบอกถึงสภาวะสุขภาพของลูกจ้างที่มีผลกระทบหรือเป็นอุปสรรคต่อการทำงานหรือลักษณะงานตามที่ได้รับมอบหมายของลูกจ้าง ซึ่งแม้กำหนดว่าต้องทำ แต่ก็ยังเขียนได้ไม่สุด ให้มีทางเลือกในทางปฏิบัติได้หลากหลายอีก น่าจะมีให้กำหนดกฏหมายลูกตามมาเรื่องลักษณะของใบความเห็นแพทย์ อย่างไรก็ดี นอกจากประโยชน์ต่อสุขภาพลูกจ้างแล้ว ยุคนี้เป็น new normal คือ ต้องปรับให้มีเหตุผล คุ้มค่า ไม่สิ้นเปลือง ซึ่งกฎหมายฉบับนี้ตอบโจทย์ได้ไม่เต็ม 100 ครับ เรื่องนี้ทางสมาคมโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม แห่งประเทศไทย สถาบันอาชีวเวชศาสตร์โรงพยาบาลนพรัตนราชธานี กรมการแพทย์ จะขออนุญาติชักชวนสมาคมอาชีวอนามัยและความปลอดภัยในการทำงาน กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานโดยผู้ออกกฏกระทรวง มาร่วมเสวนากัน คงเป็นในช่วงเดือนพฤศจิกายนครับ คอยติดตามด้วย