อังคาร, 17 พฤศจิกายน 2020

โรคเรื้อรังกับคนทำงาน

main_image
main_image
main_image
main_image
main_image
main_image
main_image
main_image
main_image
main_image

โรคเบาหวานกับคนทำงาน

ในคนทำงานนั้นมีข้อควรปฏิบัติได้แก่

  1. ต้องตระหนักเสมอว่าการทำงานไม่ใช่การออกกำลัง และเป็นความเครียดชนิดหนึ่งซึ่งจะเพิ่มน้ำตาลในเลือด ดังนั้นจะอ้างว่าการทำงานหนักคือการออกกำลังกายแล้ว ไม่จำเป็นต้องทำอีกไม่ได้
  2. คนทำงานที่เป็นโรคเบาหวาน ถ้ามีการควบคุมตนเองดี ติดตามการรักษาตามนัดอย่างสม่ำเสมอ ก็สามารถทำงานได้อย่างคนปกติ ดังนั้นการที่คนทำงานเป็นโรคเบาหวานจึงไม่ใช่ข้ออ้างในการจำกัดหรือไล่คนออกจากงาน
  3. การป้องกันดีกว่าการรักษาเสมอ ดังนั้นในคนทำงานที่อายุมากกว่า 45 ปี หรือมีประวัติครอบครัวเป็นโรคเบาหวาน หรือมีอาการที่สงสัยว่าจะเป็นโรคเบาหวาน จึงควรที่จะเจาะเลือดตรวจ การที่คนทำงานมีสุขภาพดีย่อมหมายถึงผลของการผลิตที่ดีขึ้น และอุบัติเหตุลดลง
  4. โรคเบาหวานจะมีผลต่องาน เนื่องจากทำให้คนทำงานรู้สึกอ่อนเพลียเร็วกว่าปกติ มีภาวะขาดน้ำ หิวน้ำบ่อย หรือปัสสาวะบ่อย ทำให้ต้องออกจากสายการผลิตไปเข้าห้องน้ำบ่อยครั้ง การที่หิวบ่อยจะทำให้ต้องติดน้ำหรืออาหารมารับประทานในสายการผลิต ซึ่งอาจจะทำให้รับประทานสารพิษซึ่งติดมากับอาหารในสายการผลิตนั้นไปด้วย นอกจากนี้โรคเบาหวานจะทำให้ภูมิต้านทานต่ำ จึงเป็นโรคต่างๆ ได้ง่าย ขณะเดียวกัน ในระยะแรกของการรักษาควรมีการผ่อนผันให้คนทำงานออกจากสายงานผลิตได้บ้าง เพื่อเข้าห้องน้ำหรือรับประทานอาหารและน้ำ
  5. ถ้าเป็นงานที่อันตราย จำเป็นต้องมีเพื่อนร่วมงานเฉพาะหรือ buddy คอยทำงานคู่กัน เช่นเดียวกับในคนที่เป็นโรคเบาหวานระยะที่ยังควบคุมไม่ดี อาจจะต้องมีเพื่อนร่วมงานเฉพาะติดตามร่วมทำงานด้วย หรือในระยะที่มีโรคแทรกซ้อน ก็ต้องมีเพื่อนร่วมงานเฉพาะที่ทราบอาการแทรกซ้อนของโรคเบาหวานคอยช่วยเหลือด้วย
  6. การไปพบแพทย์ตามนัดทำให้ต้องขาดงานบ่อยครั้ง จึงควรมีการเตรียมการในห้องพยาบาล โดยพยาบาลหรือบุคลากรด้านสุขภาพที่ดูแลในสถานประกอบการควรทราบว่าใครบ้างที่เป็นโรคเบาหวาน ควรมีการติดตาม มีการซื้อเครื่องเจาะเลือดไว้ในห้องพยาบาล ทำให้แพทย์ให้ยาได้นานขึ้น ไม่ต้องขาดงานบ่อยครั้ง โดยพยาบาลประจำสถานประกอบการจะดูแลเรื่องการควบคุมน้ำตาลในเลือดได้ง่ายขึ้น โดยแพทย์จะต้องประสานงานกับพยาบาลว่าเมื่อไรจึงควรส่งคนงานนั้นมาตรวจก่อนวันนัด
  7. เมื่อคนทำงานเป็นโรคเบาหวาน ควรเข้าใจว่ามีข้อจำกัด เช่นต้องปัสสาวะบ่อย หิวน้ำบ่อย ดังนั้นในระยะที่ยังควบคุมน้ำตาลไม่ได้ ควรงดการทำงานในที่ซึ่งหาที่ปัสสาวะยาก ในที่ที่มีสภาพอากาศร้อนซึ่งยิ่งต้องการน้ำมาก งานที่ต้องอดอาหารนานๆ เช่นต้องออกไปในที่ห่างไกลเป็นเวลานาน และผู้ที่รับประทานยาในระยะแรก อาจยังปรับตัวได้ไม่ดีพอ เพราะช่วงที่ยาออกฤทธิ์มากทำให้น้ำตาลต่ำ อาจมีอาการหน้ามืด มือสั่นใจสั่น ดังนั้นจึงควรระมัดระวังเมื่อต้องทำงานในที่สูง งานในที่อากาศร้อนหรือตากแดดเป็นเวลานาน
  8. ถ้ามีภาวะแทรกซ้อน เช่นโรคผิวหนัง ต้องระวังเรื่องเสื้อผ้าที่คับเกินไป รองเท้านิรภัย ที่มีเพราะความอับชื้นจะทำให้เป็นเชื้อราได้ง่าย ในคนที่มีอาการชาจากปลายประสาทอักเสบ จะทำให้ความรู้สึกผิดปกติไป บางครั้งการทำงานโดยไม่ใส่รองเท้านิรภัยอาจเตะถูกโลหะและเป็นแผล ทำให้อักเสบและถึงกับต้องตัดเท้าได้ ถ้าประสาทสัมผัสไม่ดีการทำงานละเอียดผิดพลาดได้ง่าย และถ้ามีภาวะแทรกซ้อนที่ตา ต้องระวังเรื่องงานที่ต้องใช้สายตา เช่น งานส่องกล้อง งานที่ทำในที่สลัวบางอย่างที่คิดว่าแสงพอเพียง อาจไม่พอเพียงสำหรับคนที่มีภาวะแทรกซ้อนที่ตาจากเบาหวาน นอกจากนี้ในบางคนยังมีภาวะนิ้วล็อคหรือเส้นประสาทถูก.ก.ดทับได้ง่าย ทำให้ไม่สามารถทำงานที่ต้องใช้แรงนิ้วอย่างการใช้นิ้วงัดสิ่งของเล็กๆ หรือไม่สามารถงอข้อมือหรือข้อศอกนานๆ ซึ่งจะทำให้ปวดชาที่มือ หรือแขน เช่นการจับหรือถือของในท่างอข้อมือนานๆได้
  9. ผู้ที่มีภาวะแทรกซ้อนทางหลอดเลือด ต้องระวังเป็นพิเศษ เช่นคนที่เป็นโรคหลอดเลือดหัวใจ หรือเป็นอัมพาต จะต้องหลีกเลี่ยงงานที่เครียด หรือการสัมผัสตัวทำละลาย การสัมผัสโลหะหนักบางชนิดเช่นสารตะกั่ว ซึ่งจะทำให้ความดันโลหิตสูงขึ้น และเกิดโรคหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันหรือเป็นอัมพาตได้ ซึ่งจะกล่าวต่อไปในเรื่องโรคความดันโลหิตสูง
  10. ในผู้ที่มีภาวะแทรกซ้อนทางไต ถ้าเป็นมากจะต้องหลีกเลี่ยงงานหนัก เนื่องจากจะมีภาวะซีดร่วมด้วย และมีอาการเพลีย อ่อนแรง
  11. สิ่งที่ต้องระวังคือโรคต่างๆที่มีร่วมด้วย เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคไขมันในเลือดสูง หรือภาวะอ้วน เมื่อเป็นเบาหวานจะต้องค้นหาโรคต่างๆ เหล่านี้ และต้องระวังผลข้างเคียงของยารักษาโรคเหล่านี้ด้วย ซึ่งจะมีกล่าวในแต่ละโรคต่อไป
  12. การส่งเสริมเรื่องโภชนาการเป็นเรื่องสำคัญ อุปสรรคสำคัญในการควบคุมอาหารของคนทำงาน คีอสถานที่ทำงานไม่สามารถหาอาหารที่เหมาะสมได้ สถานประกอบการอาจต้องจัดให้มีอาหารสำหรับคนที่เป็นโรคเรื้อรัง หรืออาหารสุขภาพไว้เพื่อให้เลีอกรับประทาน หรือเป็นสวัสดิการเพื่อให้รับประทานฟรี
  13. ควรจัดให้มีการตรวจน้ำตาลในเลือดเป็นการตรวจสุขภาพประจำปีสำหรับคนที่อายุเกิน 45 ปีเป็นครั้งแรก และตรวจซ้ำหากไม่เป็นทุก 3 ปีเป็นอย่างน้อย เพื่อคัดกรองผู้ที่เป็นโรคเบาหวานและสามารถป้องกันได้ตั้งแต่แรกเริ่ม
  14. ควรให้ความรู้แก่คนทำงานในสถานประกอบการเกี่ยวกับเรื่องโรคเบาหวานและการป้องกัน รวมทั้งความรู้เรื่องยาและผลข้างเคียง ในสถานประกอบการที่มีคนทำงานอายุมาก เช่นในรัฐวิสาหกิจหลายแห่งซึ่งส่วนใหญ่ไม่มีการลาออก หรือในสถานประกอบการที่ใช้แรงงานมีฝีมือซึ่งเป็นคนที่มีคุณค่า ควรมีระบบป้องกันและค้นหาโรคเรื้อรัง โดยเฉพาะโรคเบาหวาน และควรมีแพทย์ด้านอาชีวเวชศาสตร์ หรือพยาบาลอาชีวอนามัย เป็นที่ปรึกษาเพื่อจัดระบบการดูแลคนทำงานอายุมากหรือเป็นโรคเรื้อรัง ทั้งนี้เพื่อให้เกิดผลดีต่อคนทำงานไม่ให้เขาเจ็บป่วยจากโรคมากขึ้น บางครั้งการที่ยังคุมน้ำตาลได้ไม่ดี แต่จัดให้ไปอยู่กะดึก รับประทานยาไม่เป็นเวลาและหิวบ่อย ทำให้คุมน้ำตาลไม่ได้ และเมื่อไปหาแพทย์ แพทย์ก็ไม่ได้ซักประวัติการทำงานจึงเพิ่มยารักษาเบาหวานให้ ซึ่งส่งผลให้ผู้ป่วยมีภาวะน้ำตาลต่ำหรือหิวมากขึ้น นอกจากนี้การที่คนทำงานเป็นเบาหวานและไม่มีใครดูแล ยังมีโอกาสเกิดอุบัติเหตุสูง เป็นอันตรายต่อทั้งเพื่อนร่วมงานและทรัพย์สินของสถานประกอบการอีกด้วย
  15. ต้องรู้ปัจจัยเสี่ยงของตนเอง ที่สำคัญคืออายุ น้ำหนักตัวที่มาก การไม่ออกกำลัง การกินอาหารไม่เป็นเวลาไม่ถูกสุขลักษณะ การชอบกินของหวาน ประวัติการเป็นเบาหวานในครอบครัว อาการของโรคเบาหวานเริ่มแรก เมื่อทราบว่าเป็นแล้วก็ต้องรีบรักษาและควบคุมตนเอง ต้องระวังงานที่เสี่ยงกับโรคเบาหวานในขณะที่ยังคุมน้ำตาลไม่ได้ เช่น งานที่อยู่ในความร้อน งานกลางแจ้ง งานในที่สูง งานกะดึก พยายามประเมินค่าน้ำตาลในเลือดด้วยตนเองตลอดเวลา ดูแลรักษาสุขอนามัยอยู่เสมอ การเป็นเบาหวานไม่ใช่ข้อจำกัดในการทำงาน ถ้ารักษาให้อยู่ในภาวะปกติ ควบคุมตนเอง ก็สามารถทำงานได้ตามปกติ โรคเบาหวานเป็นโรคที่อันตราย แต่สามารถป้องกันได้โดยดูจากประวัติเสี่ยง เมื่อเป็นแล้วแสดงว่ามีการทำลายอวัยวะไปมาก การปรับพฤติกรรมจึงเป็นการรักษาที่สำคัญพอๆ กับการรับประทานยา

โรคความดันโลหิตสูงกับคนทำงาน

เช่นเดียวกับโรคเบาหวานและโรคเรื้อรังชนิดอื่น เพียงแต่โรคความดันโลหิตสูงไม่มีอาการ และงานจะทำให้เกิดความเครียด เช่น งานหนัก งานกะ งานที่มีความรับผิดชอบสูง งานที่ต้องเกี่ยวข้องกับคนหมู่มาก ก็จะทำให้มีความดันโลหิตสูง จึงควรระวัง โดยเฉพาะในคนที่อายุมากกว่า 45 ปี และ/หรือมีโรคอื่นๆ ร่วมด้วย หรือมีกลุ่มอาการเมตาโบลิก ควรมีการวัดความดันโลหิตเป็นระยะทุกปี รักษาสุขภาพ อย่าเครียด หลีกเลี่ยงสิ่งเสพติดเช่นเหล้าหรือบุหรี่ นอกจากนี้สารเคมีบางชนิดยังทำให้เกิดโรคความดันโลหิตสูงได้ เช่น โลหะหนักโดยเฉพาะตะกั่ว เบอริลเลียม ตัวทำละลาย ซึ่งนอกจากทำให้ความดันโลหิตสูงแล้วยังทำให้หัวใจเต้นผิดจังหวะ เสียงดังก็ทำให้ความดันโลหิตสูงเช่นกัน

ถ้าเป็นโรคความดันโลหิตสูงและรับประทานยาอยู่ จะต้องทราบผลข้างเคียงของยา เช่นถ้าผลข้างเคียงทำให้ไอ บางครั้งการทำงานกับฟูมหรือฝุ่น ไอกรด ด่าง ซึ่งมีการระคายเคืองอยู่แล้ว จะทำให้เข้าใจผิดคิดว่าเกิดจากสารเคมี แต่ความจริงอาจเป็นผลข้างเคียงของยาลดความดันโลหิต หรือยาบางตัวอาจทำให้ขาบวม หรือเกิดผลข้างเคียงในการรับประทานยาครั้งแรกถึงขั้นเป็นลม จึงอาจเป็นอันตรายถ้าทำงานในที่สูงหรือทำงานในน้ำ ยาบางชนิดทำให้หัวใจเต้นช้าเพื่อลดความดันโลหิต จึงทำให้เวลาออกแรงแล้วมีอาการเหนื่อยหอบได้ เนื่องจากหัวใจไม่สามารถสูบฉีดโลหิตได้ตามที่ต้องการ ยาบางชนิดขยายเส้นเลือดโดยตรง ทำให้เวลานั่งยองหรือนั่งทำงานนานๆ เลือดไปกองอยู่ที่บริเวณส่วนล่างของร่างกายมาก เวลาลุกขึ้นยืนทำให้หน้ามืดเป็นลม ซึ่งอาจเกิดอันตรายได้

อย่างไรก็ตาม ผลข้างเคียงจากยาเหล่านี้จะเป็นในระยะแรกซึ่งมีการปรับยา เมื่อรับประทานยาไปนานแล้ว ส่วนใหญ่จะไม่ค่อยมีผลข้างเคียง นอกจากนี้บางครั้งยังมีโรคอื่นๆ ที่ต้องรับประทานยาอื่นร่วมด้วย ดังนั้นจะต้องระวังผลข้างเคียงของยาตัวอื่นด้วย ถ้ากำลังรักษาอยู่แล้วคุมความดันโลหิตไม่ได้ ให้ดูว่ามีการปรับงาน หรือมีความเครียดในงานเพิ่มขึ้นหรือไม่

ถ้ามีผลข้างเคียงของโรคความดันโลหิตสูงแล้ว เช่น เป็นอัมพฤกษ์ หรือเป็นโรคหัวใจ ก็จะมีข้อจำกัดในการการทำงาน การสัมผัสโลหะหนักและตัวทำละลายดังกล่าวจะทำให้อาการเป็นมากขึ้น นอกจากนี้ ในภาวะที่ขาดออกซิเจนหรือไม่สามารถนำออกซิเจนไปใช้ได้เช่นในที่ซึ่งมีคาร์บอนไดออกไซด์ หรือคาร์บอนมอนออกไซด์เป็นจำนวนมากก็จะทำให้อาการขาดเลือดเป็นมากขึ้น เช่นคนที่ทำงานในอู่รถยนต์ ทำงานในที่อับอากาศ ทำงานขับรถบรรทุก เป็นต้น

ข้อควรปฏิบัติเป็นเช่นเดียวกันคือ ควรมีคนที่ทราบว่าคนทำงานนั้นเป็นโรคอยู่ และคอยเฝ้าระวังซึ่งกันและกัน แพทย์ที่รักษาควรบอกแผนการรักษาให้พยาบาลหรือบุคลากรทางการแพทย์ประจำสถานประกอบการให้ทราบ และควรมีแนวทางการรักษา เช่น มีการวัดความดันเลือดติดตามเป็นระยะ ซึ่งจะทำให้คนทำงานไม่ต้องขาดงานเพื่อไปรักษาที่โรงพยาบาลบ่อยครั้ง นอกจากนี้ควรทราบผลข้างเคียงของยาเพื่อเฝ้าระวังตัวเองได้

ข้อจำกัดทางกายภาพในการทำงาน ขึ้นกับลักษณะของโรคแทรกซ้อนของความดันโลหิตสูง เช่นถ้าเป็นอัมพาต ก็ทำงานที่ใช้สองมือประสานกันไม่ได้ เป็นต้น ในคนที่มีโรคแทรกซ้อนของหัวใจ ไม่ควรทำงานคนเดียวนานๆ หรือออกไปในที่ห่างไกลนานๆ ควรมีการติดตามหรือสอบถามการทำงานเป็นระยะ เพื่อไม่ให้เกิดอันตราย ควรจัดสถานที่ทำงานให้เป็นสถานที่ทำงานส่งเสริมสุขภาพ โดยการจัดอาหารโภชนาการ จัดการออกกำลัง เป็นต้น

โรคไตวายกับคนทำงาน

สารพิษ

สารเคมีในสิ่งแวดล้อมในการทำงานบางชนิดเป็นพิษต่อไต สารเคมีที่พบบ่อยได้แก่ ตัวทำละลาย เช่นเบนซีน สไตรีน เอ็นเฮ็กเซน ไตรคลอโรคเอทธีลีน โลหะหนักเช่น ตะกั่ว อาร์เซนิก แคดเมียม โครเมียม สารเคมีเหล่านี้มีพิษต่อไตถ้าสัมผัสปริมาณสูง เป็นระยะเวลานาน ก็จะทำให้เกิดไตวายได้ โดยเฉพาะถ้ามีปัจจัยเสริมทำให้เป็นมากขึ้นเช่น ไม่ออกกำลัง สภาพร่างกายไม่ดี กินอาหารไม่ถูกต้อง กินยาที่ทำให้ไตเสีย หรือเป็นโรคที่ทำให้ไตวายดังกล่าวแล้ว ก็จะทำให้ไตวายเร็วขึ้น การป้องกันคือลดการสัมผัสลง ถ้าลดการสัมผัสไม่ได้ก็จำเป็นต้องใช้เครื่องป้องกันอันตรายส่วนบุคคลเช่นหน้ากาก และมีสุขนิสัยที่ดี มีการล้างมือก่อนรับประทานอาหารทุกครั้ง อาบน้ำเปลี่ยนเสื้อผ้าหลังเลิกงานเพื่อลดการสัมผัส

ผู้ที่เป็นโรคไตวาย

ผู้ที่เป็นโรคไตวายจะมีข้อจำกัดในการทำงานจากอาการและอาการแสดงดังกล่าวแล้วด้านบน โดยเฉพาะถ้าเป็นโรคไตวายมาก การที่ต้องล้างไตหลายครั้งต่อสัปดาห์จะทำให้ไม่สามารถไปทำงานได้ และจะต้องออกจากงานในที่สุด อย่างไรก็ตามผู้ที่เป็นโรคไตวาย ในระยะแรก สามารถทำงานได้ตามปกติ ข้อจำกัดของคนที่เป็นโรคไตวายเรื้อรังในการทำงานได้แก่

  1. ในคนที่เป็นโรคไตวาย จะต้องปัสสาวะบ่อยครั้ง ดังนั้นงานที่ต้องยืนทำนานๆ คนเดียว และเป็นงานสายพานจะต้องมีคนมาเปลี่ยนหรือรับหน้าที่แทนบ่อย จะต้องอธิบายให้กับหัวหน้างานฟังถึงข้อจำกัด บางครั้งอาจต้องย้ายงานไปใกล้บริเวณที่มีห้องน้ำ
  2. ผู้ที่เป็นโรคไตวายจะมีเท้าบวมได้ ดังนั้นบางครั้งจะใส่รองเท้านิรภัยไม่ได้ จะต้องมีรองเท้าเบอร์ใหญ่สำรองไว้เพื่อใส่ป้องกันเท้าเวลาทำงาน อย่าใส่รองเท้าธรรมดาเพราะใส่รองเท้านิรภัยที่มีอยู่ไม่ได้ อาจทำให้เกิดอันตรายต่อเท้า และเป็นแผลง่าย การเป็นแผลจะหายยากเนื่องจากเมื่อเป็นโรคประสาทส่วนปลายอักเสบจะทำให้เส้นเลือดและเส้นประสาท และกลไกที่ช่วยในการหายผิดปกติ รวมทั้งการที่มีเท้าบวม จะทำให้แผลหายช้า
  3. คนที่เป็นโรคไตวายเรื้อรังและต้องมีการล้างไต จะทำให้เดินทางไม่สะดวกเนื่องจากจะต้องล้างไตตามเวลา ดังนั้นจะมีข้อจำกัดในการทำงานในที่ใกล เช่นการออกเรือ การไปต่างประเทศ เป็นต้น
  4. คนที่เป็นโรคไตวายเรื้อรัง โดยเฉพาะเมื่อเป็นมากแล้ว จะมีปัญหาในเรื่องความคิด เนื่องจากของเสียที่คั่งในร่างกายและจากการเปลี่ยนแปลงของสารเคมีในสมอง ทำให้คิดช้า การตัดสินใจไม่ดี ทำให้มีข้อเสียหายในการทำงาน เช่นหยุดงานบ่อย หรือทำงานด้านบริหารไม่ได้ ในงานฉุกเฉินที่ต้องใช้การตัดสินใจอาจทำให้เกิดความเสียหายได้
  5. คนที่เป็นโรคไตวายเรื้อรังจะมีอาการอ่อนเพลียจากการซีด และการฝ่อของกล้ามเนื้อ การขาดอาหาร หรือหัวใจวาย สมดุลย์ของเกลือแร่ผิดปกติ ทำให้ไม่มีแรงทำงานหรือทำงานหนักไม่ได้ ไม่สามารถอยู่เวรหรือทำงานกลางแจ้งได้ การทำงานในที่สูงทำให้มีอาการหน้ามืดหรือเกิดอุบัติเหตุได้
  6. คนที่เป็นโรคไตวายเรื้อรัง ไม่ควรขับรถไกล นอกจากนี้การขับรถในการจราจรที่คับคั่งและมีก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เข้ามาในรถเนื่องจากสภาพของรถ จะทำให้มีอาการอ่อนเพลียมากขึ้น หรือมีอาการหัวใจวายมากขึ้นเนื่องจากคาร์บอนไดออกไซด์ไปแย่งที่ออกซิเจนทำให้หายใจเอาออกซิเจนเข้าไปน้อยกว่าปกติ
  7. ผู้ที่เป็นโรคไตวายเรื้อรังบางครั้งจะต้องทำงานสัมผัสกับสารเคมีบางชนิดซึ่งจะทำให้มีอาการไตวายมากขึ้น อาจจะต้องเปลี่ยนงานถ้าลดการสัมผัสไม่ได้
  8. ผู้ป่วยที่มีอาการเหนื่อย ทำให้ไม่สามารถใส่หน้ากากป้องกันได้เนื่องจากจะทำให้อึดอัดและหายใจไม่ออก ดังนั้นจึงมีข้อจำกัดในการทำงานที่ต้องใส่หน้ากากป้องกัน

โรคอ้วนกับการทำงาน

เช่นเดียวกับโรคเรื้อรังอื่นๆ คนที่เป็นโรคอ้วนสามารถทำงานได้เกือบทุกชนิดถ้ายังไม่มีอาการแทรกซ้อนของโรคอื่นๆ เพียงแต่จะมีปัญหากับขนาดหรือรูปร่าง เนื่องจากเครื่องจักรหรือสถานที่ทำงานส่วนใหญ่ออกแบบมาสำหรับคนขนาดมาตรฐาน เช่นในการขับรถ คนอ้วนจะต้องนั่งในที่แคบๆ ทำให้มีอาการปวดหลัง ปวดเข่า ถ้าต้องนั่งยอง จะปวดเข่า เป็นต้น

คนอ้วนจะมีน้ำในตัวน้อยเนื่องจากมีไขมันมาก ดังนั้นไม่ควรทำงานในที่ที่มีอากาศร้อนมาก เช่นงานกลางแจ้ง งานใกล้เตาหลอม เพราะจะหิวน้ำบ่อย และจะได้รับผลจากความร้อน มีอาการอ่อนเพลีย เป็นตะคริว หรือเป็นลมแดดได้ การที่มีไขมันมากทำให้สารเคมีที่ละลายในไขมันเช่นตัวทำละลายมีการสะสมในไขมันได้มาก นอกจากนี้คนอ้วนยังร้อนง่าย ทำให้เหงื่อออกง่าย เสื้อผ้าชื้นติดตัว ทำให้เป็นโรคผิวหนังบริเวณขาหนีบหรือส่วนของผิวหนังที่พับติดกันได้ง่าย เกิดการเสียดสีทำให้เป็นแผลได้ง่าย หรือเวลามีเหงื่อมากก็อาจทำปฏิกิริยากับสารเคมีบางชนิด กลายเป็นกรดหรือด่างซึ่งจะทำให้ผิวหนังอักเสบได้ง่าย บางครั้งก็เผลอใช้มือเช็ดหรือถู ทำให้สารเคมีผ่านเข้าตาหรือจมูก

นอกจากนี้ คนที่เป็นโรคอ้วนยังขึ้นลงบันใดหรือทำงานในที่สูงลำบาก และไม่ควรลงไปทำงานในสถานที่อับอากาศ ถ้าควบคุมน้ำหนักไม่ได้ ไม่ควรให้อยู่กะดึก เพราะจะกินมาก ถ้าพบว่าเป็นโรคอ้วนเรื้อรัง ให้ปฏิบัติตนตามที่กล่าวถึงในคนที่เป็นโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ หรือไขมันในเลือดสูง เพียงแต่ในคนที่เป็นโรคอ้วนจะมีเรื่องขนาดมาเกี่ยวข้องด้วย

โรคหัวใจกับการทำงาน

คนที่เป็นโรคหัวใจจะมีข้อเสียเปรียบในการทำงานหลายอย่าง คือ

  • เหนื่อยง่าย ความทนต่อการขาดน้ำน้อย ทำงานหนักมากไม่ได้ ยิ่งถ้ามีอาการมาก ไม่ควรให้ทำงานหนักเลย หรือไม่ควรให้ทำงานคนเดียว
  • ไม่ควรเครียดมาก เนื่องจากความเครียดทำให้อาการของโรคหลอดเลือดหัวใจแย่ลงไปอีก
  • งานบางประเภทที่ทำให้ออกซิเจนในอากาศน้อย เช่นงานในที่อับอากาศ หรือในท้องถนนที่มีคาร์บอนไดออกไซด์มาก จะทำให้อาการเป็นมากขึ้น
  • ในห้องที่มีการระบายอากาศไม่ดี การทำงานในที่สูง หรือบนภูเขาที่มีออกซิเจนเบาบาง จะทำให้มีอาการมากขึ้น นอกจากนี้ สารเคมีเช่นโลหะหนักบางชนิด หรือตัวทำละลายจะมีผลต่อโรคหัวใจด้วย
  • ต้องระวังในการทำงานกับเสียงดัง เนื่องจากจะทำให้เกิดความเครียดและความดันโลหิตสูงได้ ข้อปฏิบัติตัวอื่นๆ ก็จะคล้ายโรคเรื้อรังชนิดอื่นดังที่กล่าวมาแล้ว

สำหรับยาโรคหัวใจ จะมีแตกต่างไปคือ ยาที่ขยายหลอดเลือดบางตัวทำให้มีอาการปวดศีรษะได้ ทำให้บางครั้งสับสนกับอาการจากสารพิษ และยากันเส้นเลือดตีบ หรือยาละลายลิ่มเลือดที่รับประทานเพื่อป้องกันลิ่มเลือดอุดตันในหัวใจ หรือในคนที่ไปผ่าตัดเปลี่ยนเส้นเลือดหัวใจ ก็จะทำให้เลือดออกง่าย จึงควรระวังไม่ให้เกิดอุบัติเหตุ และจำเป็นที่จะต้องให้เพื่อนร่วมงานรู้ว่ากินยาตัวนี้อยู่ เพื่อป้องกันไม่ให้จ่ายยาที่กัดกระเพาะซึ่งจะทำให้เลือดออก และควรหลีกเลี่ยงการทำงานในสถานที่ซึ่งเกิดอุบัติเหตุได้ง่ายด้วย

โรคกระเพาะอาหารและการทำงาน

คนทำงานมีแนวโน้มที่จะเป็นโรคทางเดินอาหารได้ง่ายเนื่องจากบางครั้งการทำงานทำให้ไม่ได้รับประทานอาหารตรงเวลา โดยเฉพาะงานที่ต้องออกนอกสถานที่เป็นเวลานานเช่น การทำฟาร์ม การทำนา หรือขับรถบรรทุก การที่ต้องทำงานในที่สูง เช่นพนักงานไฟฟ้า ซึ่งต้องรอให้งานเสร็จก่อนจึงลงมารับประทานอาหาร งานกะ ที่ทำให้เวลารับประทานอาหารผิดปกติไป เป็นต้น นอกจากนี้ในกลุ่มผู้บริหารหรืองานที่ต้องใช้ความรับผิดชอบสูงจะทำให้เกิดความเครียด การทำงานอาจทำให้ต้องเว้นมื้ออาหารบางมื้อออกไป ทำให้ยิ่งมีโอกาสเกิดโรคทางเดินอาหารมากขึ้น

การทำงานที่ต้องออกแรง ทั้งงานแบก หาม หรือยกของ เคลื่อนย้ายของ ทำให้มีโอกาสปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ความจริงแล้วสิ่งที่เกิดขึ้นคือความไม่สบายในการทำงานจากการทำงานในท่าทางที่ไม่สบาย ซึ่งเกิดได้ในกระบวนการทำงานต่างๆ ซึ่งเมื่อพักก็จะหายได้เอง บางครั้งเมื่อคนทำงานมีอาการปวดเมื่อย ก็จะไปพบแพทย์และได้รับยาแก้ปวดชนิด NSAIDs มารับประทาน ทำให้เกิดแผลใน กระเพาะอาหารหรือลำไส้เล็กได้ง่ายขึ้น เมื่อมีอาการปวดแพทย์จ่ายยาให้โดยไม่ถามถึงสาเหตุและไม่มีการแก้ไขสาเหตุทำให้กลับมารับประทานยาซ้ำเรื่อยๆ ทำให้เป็นแผลในทางเดินอาหารได้ง่าย

ในคนที่เป็นโรคกระเพาะอาหาร การทำงานเลยเวลาอาหารจะทำให้โรคหายช้าหรือกำเริบขึ้นอีก นอกจากนี้ การปวดท้องหรือไม่สบายตัวทำให้ขาดสมาธิในการทำงาน จึงทำให้งานผิดพลาดหรือเกิดอุบัติเหตุได้ง่ายขึ้น ดังนั้นจึงควรรักษาโรคให้หายขาดเพื่อให้สามารถทำงานได้เต็มที่

วัณโรคกับการทำงาน

เมื่อเป็นวัณโรคจะมีอาการอ่อนเพลียและมีไข้ ทำให้ทำงานไม่ได้ จำเป็นต้องพักผ่อนเนื่องจากเป็นระยะติดต่อ คนที่เป็นวัณโรค การรักษาจะใช้เวลาประมาณหกถึงเก้าเดือน แต่โดยทั่วไปแล้วการกินยารักษาประมาณสองสัปดาห์ก็จะตรวจไม่พบเชื้อในเสมหะ และไม่มีอาการไอ มีเสมหะ ถือว่าไม่แพร่เชื้อแล้ว สามารถกลับเข้ามาทำงานได้

ในคนที่รักษาหายแล้วจะมีรอยโรคที่ปอด ในคนที่เป็นมากหรือมีลมรั่วในปอดจากถุงลมแตกจะมีอาการเหนื่อยง่ายจากการที่ปอดเป็นพังผืดไปบางส่วน ทำให้ไม่สามารถทำงานหนักได้

คนที่เป็นโรคปอดฝุ่นทรายหรือโรคซิลิโคสิส จะเป็นวัณโรคง่ายเนื่องจากเม็ดเลือดขาวในปอดจะใช้ในการต่อสู้กับฝุ่นทราย ทำให้ภูมิคุ้มกันลดลง นอกจากนี้โรคซิลิโคสิสยังทำให้ปอดเป็นพังผืด ทำให้เชื้อวัณโรคเข้าไปหลบอยู่ตามบริเวณที่เป็นพังผืด และทำให้รักษาหายยาก

  1. การทำงานเป็นสภาพที่เราอยู่ใกล้กันมาก และเป็นระยะเวลานาน เช่นการยืนทำงานบนสายพานที่จะต้องยืนใกล้กัน ตลอด 8 ชั่วโมงการทำงาน ทำให้มีการติดเชื้อต่างๆ ง่ายขึ้น
  2. วัณโรคสามารถติดจากนอกงานได้ เนื่องจากประเทศไทยเป็นแหล่งแพร่เชื้อวัณโรค การทำวัคซีน บีซีจี ไม่ได้หมายความว่าทำแล้วจะไม่เป็นวัณโรค
  3. เมื่อมีโรคติดเชื้อเกิดขึ้น จำเป็นที่จะต้องหาผู้ติดเชื้อรายแรกหรือ index case เพื่อหาขอบเขตการแพร่กระจาย และยับยั้งการติดเชื้อ
  4. เชื้อวัณโรครักษาให้หายได้ แต่ถ้ารับประทานยาฆ่าเชื้อวัณโรคไม่ครบ ก็อาจจะทำให้เชื้อเกิดดื้อยาได้
  5. คนที่เป็นวัณโรค ควรหยุดงานและรักษาจนไม่แพร่เชื้อ ซึ่งเมื่อกลับมาทำงานแล้วก็จะไม่แพร่เชื้อให้กับเพื่อนร่วมงาน

คนทำงานและโรคภูมิแพ้

ในที่นี้โรคภูมิแพ้ หมายถึงโรคผื่นผิวหนัง การมีน้ำมูกมาก ไอ หรือหอบ ในคนที่เป็นอยู่แล้ว จะเป็นมากขึ้นจากปัจจัยในที่ทำงานหรือเป็นจากการทำงานเอง (เป็นครั้งแรกจากปัจจัยในที่ทำงานโดยตรง)

  1. ในคนทำงานออฟฟิตนั้น โรคภูมิแพ้เกิดจากการหายใจสารโปรตีนที่พนักงานเหยียบเข้าไปจากภายนอก และตกหล่นบนพื้น หรือเป็นสารโปรตีนจากตัวคนด้วยกันเอง เช่น รังแค เมื่อเดินย่ำเท้าเข้าไปจะทำให้เศษโปรตีนจากดิน ซากสัตว์ มูลสัตว์ชนิดเล็ก นั้นฟุ้งกระจายขึ้นมาและสูดดมเข้าไป จะมีปัญหามากในออฟฟิตที่ปูพรม วิธีแก้ไขง่ายๆ คือการถอดรองเท้าเดินเข้าไปทำงานหรือการทำความสะอาดพรมบ่อยครั้ง สำหรับอาการผื่นคันหรือระคายเคืองนั้นอาจจะเกิดจากการระคายเคืองจากการสัมผัสสารพวก volatile organic compounds หรือที่เรียกว่า VOCs ซึ่งเป็นสาร ประเภทตัวทำละลายที่มีบนเฟอร์นิเจอร์ ผ้าม่าน หมึกพิมพ์ หรือคอมพิวเตอร์ โดยมีในขนาดน้อยๆ ไม่ได้เกิดจากการแพ้
  2. ในคนที่ทำงานไม้ หรือทำเฟอร์นิเจอร์ เนื้อไม้บางอย่างก่อให้เกิดภูมิแพ้ได้ ทั้งผื่นผิวหนัง เป็นหวัดเรื้อรังหรือเป็นโรคหอบหืด ซึ่งจะมีปัจจัยอื่นร่วมด้วยคือการระคายเคืองจากตัวทำละลายพวกน้ำมันสน กาว หรือทินเนอร์ซึ่งจะระคายเคืองจมูกและตาอยู่แล้ว
  3. คนที่ทำงานโรงงานอาหาร โรงงานขนมปัง หรือทำนา สารโปรตีนจากผลิตภัณฑ์หรือสารเริ่มต้น จะทำให้เป็นโรคภูมิแพ้ได้ การป้องกันคือจะต้องสวมใส่เครื่องป้องกัน และจัดการระบายอากาศให้ดี พยายามอย่าให้ฝุ่นแป้งฟุ้งกระจาย โดยทำความสะอาดพื้นบ่อยครั้งด้วยเครื่องดูดฝุ่นหรือม็อบเปียก
  4. สารเคมีที่ทำให้เกิดอาการหอบหืดอย่างรุนแรงคือ toluene diisocyanate ซึ่งพบในกาว หรือสี ซึ่งใช้เคลือบสิ่งของ เมื่อถูกความร้อนจะระเหยออกมา ทำให้สูดดมเข้าไป โดยคนทำงานจะมีอาการในขณะทำงานหรือขณะที่อยู่ใกล้กระบวนการเหล่านี้ และอาการจะดีขึ้นหลังออกจากบริเวณนั้น
  5. โรคหอบหืดในคนทำงานเกิดจากฝุ่นฝ้าย ใย ป่าน ปอ และลินินธรรมชาติ หรือเรียกว่าโรคบิสสิโนสิส พบได้ในโรงงานปั่นด้าย หรือทอผ้า เกิดจากปฏิกิริยาอิมมูน โดยคนทำงานจะมีอาการในวันแรกของการทำงานตอนบ่าย โดยมีอาการแน่นหน้าอก ไอ มีไข้ กลับบ้านแล้วอาการจะหาย วันรุ่งขึ้นมาทำงานใหม่ก็จะมีอาการอีก โดยจะมีอาการประมาณ 2-3 วัน หลังจากนั้นอาการจะหายไป และเมื่อกลับมาทำงานวันจันทร์ก็จะเป็นใหม่อีกเกิดจากการแพ้ในสองสามวันแรก ต่อมาเริ่มคุ้นเคย วันหยุดไม่มีการสัมผัส พอกลับมาวันจันทร์ก็มีอาการแพ้อีก ถ้าสัมผัสไปนานๆ จะทำให้เป็นโรคหอบหืดถาวรได้
  6. โรคผื่นแพ้จากการใส่ถุงมือยาง หรือแพ้ยางลาเท็กซ์ ซึ่งจะทำให้มีผื่นคันบริเวณมือ โรคผื่นแพ้ผิวหนังชนิดนี้ส่วนใหญ่ไม่เป็นในครั้งแรกที่สัมผัส แต่จะเป็นเมื่อมีการสัมผัสครั้งที่สองหรือครั้งที่สาม
  7. สารเคมีบางอย่างเช่นตัวทำละลายจะทำให้มีการแพ้ได้หลังมีการสัมผัสนานๆ เช่นคนทำงานบางคนไม่เคยแพ้สร้อยคอเลย แต่เมื่อทำงานสัมผัสไปนานเข้า กลับมีอาการแพ้สร้อยคอ ซึ่งยังไม่สามารถอธิบายเหตุการณ์เหล่านี้ว่าเกิดขึ้นอย่างไร
  8. ในคนที่ทำงานกับไอกรด หรือไอด่าง เช่นการทำแบตเตอรี่ การเติมน้ำกรด หรือการใช้กรดด่างในกระบวนการทางเคมี จะมีการสัมผัสไอของมัน ทำให้มีการระคายเคืองทางเดินหายใจ มีน้ำมูก แสบคอ แสบตา แน่นหน้าอก ซึ่งไม่ได้เกิดจากโรคภูมิแพ้ แต่บางครั้งเป็นบ่อยๆ และแพทย์ไม่ได้ซักประวัติทำให้เข้าใจผิดคิดว่าเกิดจากโรคภูมิแพ้
  9. คนทำงานที่เป็นโรคภูมิแพ้จากสาเหตุอื่นอยู่แล้ว เมื่อทำงานสัมผัสกับสารระคายเคือง หรือฝุ่น สารโปรตีน ก็จะกระตุ้นให้มีอาการขึ้นมาอีกได้โดยอาการเหล่านี้ จะเป็นมากเมื่อมีการสัมผัส โดยการทำงานเป็นปัจจัยที่กระตุ้นให้มีอาการขึ้น เช่นทำงานในห้องที่มีพรม ทำงานกับสัตว์ หรือโรงงานเฟอร์นิเจอร์ โรงงานที่มีสารเคมีที่มีกลิ่นระคายเคืองมาก จะต้องมีการป้องกัน เพื่อไม่ให้อาการเป็นมากขึ้น ควรมีการรับประทานยาเพื่อป้องกัน หรือมียาติดตัวเสมอ โดยเฉพาะคนที่เป็นโรคหอบหืด
  10. คนที่เป็นโรคหอบหืด จะต้องหลีกเลี่ยงการทำงานในสถานที่มีอากาศเบาบางเช่นบนภูเขา หรือในที่อับอากาศ เนื่องจากจะทำให้หายใจไม่ได้ ซึ่งอาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิต นอกจากนี้จะต้องหลีกเลี่ยงงานที่ต้องใช้แรงมาก หรือต้องปีนป่าย เนื่องจากจะทำให้เกิดอาการหอบได้ การป้องกัน นอกจากการใช้วิธีการจัดการทางอาชีวอนามัยแล้ว คนที่เป็นโรคภูมิแพ้ควรออกกำลัง ลดน้ำหนัก กินอาหารให้ถูกหลักโภชนาการ และควรรับประทานยาอย่างสม่ำเสมอ